กำลังใจจากพ่อ


กำลังใจจากพ่อ
สู่ความสำเร็จในเป้าหมายแห่งชีวิต


กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน

“การทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอนเพราะจะช่วยให้สามารถปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรงและถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกันและขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง’’

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 17 กรกฎาคม 2530




คิดให้รอบคอบและรอบด้าน

“เมื่อจะเริ่มงานสิ่งใด ให้พยายามคิด พิจารณาให้เห็นจุดหมาย เห็นสาระ และประโยชน์ที่แท้จริงของงานนั้นอย่างแจ่มแจ้ง แล้วจึงลงมือทำด้วยความตั้งใจ มั่นใจ ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ให้ดำเนินลุล่วงตลอดไปอย่างต่อเนื่อง โดยมิให้บกพร่องเสียหาย’’


พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 5 กรกฎาคม 2533

ยอมรับและเรียนรู้ที่จะปรับปรุงตนอย่างไม่ย่อท้อ

“การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่ายเมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ”


พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา วันที่ 27 มีนาคม 2523




เปิดรับทุกโอกาสและลงมือปฏิบัติ



“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริง ๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม 2530

เตรียมพร้อมตั้งรับกับทุกปัญหา

“…วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ทุก ๆ คนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อน (ทั้ง) นั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผลด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2528 วันจันทร์ ที่ 31 ธันวาคม 2527



รู้จักประมาณตน อย่าฝืนจนล้ม



“การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใดและควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18 กรกฎาคม 2541





อย่าหยุดหาความรู้

“ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติเป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวมนอกจากวิชาความรู้ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัย และสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิตก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้”



พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา วันเสาร์ ที่ 25 มีนาคม 2515

ทุกพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล้วนแต่ทรงคุณค่า เป็นทั้งหลักคิด หลักปฏิบัติให้พสกนิกรชาวไทยได้น้อมนำไปปรับใช้ทั้งในหน้าที่การงาน และชีวิตส่วนตัว ถ้าคุณกำลังเจออุปสรรคระหว่างทางจนเกิดความทดท้อใจ ไม่รู้จะเดินไปทางไหนดีลองนำ “คำสอนของพ่อ” มาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต

Comments

Popular posts from this blog

ผ้าไหมสุรินทร์ @สุรินทร์

กิจกรรมปันน้ำใจให้น้อง @โรงเรียนบ้านโคกกุง